Hi, Doodle Thinker!

ศิลปะในแบบ Doodle เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนี้ เพราะเป็นลายที่วาดได้ง่าย แม้แต่เด็กๆ อายุไม่กี่ขวบก็สามารถทำได้ แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับมีเสน่ห์ น่ารัก ชวนให้มองได้ไม่รู้เบื่อ

Doodle เริ่มมาเป็นศิลปะตั้งแต่เมื่อไรไม่แน่ชัด เพราะเดิมทีคำนี้ ใช้เรียกการวาดลายเส้นทั่วไป ที่เด็กๆ วาดเล่นกัน (ซึ่งหากใครเป็นพ่อแม่ ก็จะรู้ซึ้งดี เพราะตามกำแพงบ้านเต็มไปด้วย “ดูเดิ้ล”พวกนี้ 555)

Mr. Doodle (www.news.artnet.com)

ต่อมาคำว่า Doodle นี้ เริ่มฮิตติดหูจาก ศิลปินคนหนึ่งที่ชื่อว่า Mr. Doodle ที่เค้าวาดลวดลายง่ายๆ นี้จากปากกาเส้นหนาๆ เพียงด้ามเดียวนี้แหละ แต่พื้นที่การวาดนี้ไม่ได้ถูกจำกัดแต่เพียงบนกระดาษเท่านั้น เค้าดึงเอาเอกลักษณ์ของดูเดิ้ลนี้ มาใส่ในกำแพงแบบเด็กๆ จนครบทุกด้าน แม้แต่ลงบนเสื้อผ้าของตัวเอง จึงอาจบอกได้ว่า เค้าเป็นคนหนึ่งที่ทำให้คำว่า Doodle นี้ คุ้นหูก็ว่าได้

Doodle จึงไม่ใช่แค่งาน แต่เป็นชีวิตของ Mr. Doodle เลย กระทั่งล่าสุด เขาสร้างครอบครัวดูเดิ้ล (Doodle Family) ที่มี Ms. Doodle และทายาทที่ชื่อ Baby Doodle เป็นที่เรียบร้อย

แล้ว Doodle เกี่ยวอะไรกับ Thinking?

ก่อนจะตอบ ต้องขอย้อนไปถึงคำว่า Visual Thinking ก่อน ซึ่งก็คือ เทคนิคในการใช้ภาพ เพื่อให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ตอนจนเข้าใจความความสัมพันธ์ผ่านการมองเห็น ตัวอย่างที่เราคุ้นเคย ก็เช่น การใช้แผนภูมิ แผนผัง หรือ แผนภาพต่าง ฯลฯ

ต่อมา เทคนิคในการใช้ Visual Thinking มีมิติที่มากขึ้นกว่าเดิมครับ คือ เราสามารถใช้ ทุกๆ อย่างที่ทำให้เรามองเห็นได้ด้วยตาเนื้อนี่แหละ เช่น การเขียนไอเดียที่อยู่ในหัวออกมาด้วย Infographic, Post-it หรือ กระทั่งการต่อ LEGO

การใช้การวาดภาพง่ายๆ เพื่ออธิบาย หรือ สื่อสาร ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง โดยถูกเรียกว่า Sketchnote หรือ การใช้ภาพและตัวหนังสือที่เป็น Keyword ประกอบ เพื่อความชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

เอาล่ะครับ มาถึงตรงนี้ Doodle ซึ่งก็คือ ภาพวาดแบบหนึ่ง ก็ถูกนำมาใช้ในการทำ Visual Thinking นี้ ในรูปแบบที่ไม่ต่างจาก Sketchnote ที่ว่า

ความแตกต่างอาจจะอยู่ที่ Doodle จะให้ความหมาย ที่มีกลิ่นไอ ของความรู้สึก “ง่าย” และ “สนุก” มากกว่าคำว่า Sketchnote นิดหน่อย โดยคำนี้จะถูกใช้โดย Sunni Brown ซึ่งเป็น Visual Thinker คนหนึ่งนั่นเอง ซึ่งหนังสือเล่มนั้น ก็คือ “The Doodle Revolution

Doodle คือ ลายเส้นง่ายๆ ที่เด็กก็วาดได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมประทับใจกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ จึงได้นำคำว่า Doodle นี้ มารวมกับ Visual Thinking ที่ว่า เพื่อให้ชัดเจนว่า เครื่องมือที่เราใช้คุยกันให้เห็นภาพ (Visual Thinking) ในทุกบทความ ก็คือ Doodle เพื่อให้เราใช้ดูเดิ้ลนี้ในการคิด และสื่อสารให้เห็นภาพ

เมื่อสื่อสารเรื่องยากๆให้ง่ายด้วยภาพแล้ว เราก็จะเป็น Doodle Thinker ไปด้วยกันครับ 🙂

Proudly powered by WordPress | Theme: Lean Blog by Crimson Themes.