สรุปหนังสือ Storytelling with DATA

การนำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานในแทบทุกเรื่อง

โดยเฉพาะ การนำเสนอข้อมูลแบบตัวเลข ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังได้รู้สถานการณ์ต่างๆ จากอดีต ปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอนาคต

ดังนั้น หากการนำเสนอข้อมูลมีความชัดเจน ตรงประเด็น และเข้าใจได้ง่าย ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างมากในการตัดสินใจจากผู้เกี่ยวข้อง

กราฟต่างๆ มีบทบาทเป็นพระเอกของการนำเสนอข้อมูลเสมอ

ทว่าหลายครั้งพระเอกของเราแทนที่จะขี่ม้าขาวและช่วยให้คนอื่นๆ คล้อยตาม และเข้าใจในส่งที่เราอยากจะสื่อกลับแป๊ก เพราะซับซ้อน ยุ่งยาก ในการอธิบายข้อมูลที่เราอยากนำเสนอ

หนังสือ STORYTELLING WITH DATA

หรือ การเล่าเรื่องด้วยข้อมูลนี้ จึงมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยให้ทุกคนที่ต้องนำเสนอข้อมูลนัั้น สามารถเล่าเรื่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็น ผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือ แม้แต่เพื่อนร่วมงานในทีมของคุณ เข้าใจถึงข้อมูลจริงๆ ได้ดียิ่งกว่าเดิม

STORYTELLING WITH DATA มีทั้งหมด 8 บท แต่ประเด็นหลักๆ นั้น จะอยู่ที่ 6 เรื่องนี้ คือ

  • ดูบริบทของการนำเสนอ เป็นสิ่งสำคัญมากก่อนสิ่งอื่นใด เราต้องรู้จักการดูบริบทของการนำเสนอ เนื่องจากจะช่วยให้เราเตรียมตัว จัดระบบการคิด การวางแผนการนำเสนอ และเลือกใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม เราในบทบาทของผู้นำเสนอ จำเป็นต้องรู้ว่า เรากำลังจะคุยกับใคร บอกเค้าไปทำไม เพื่อวัตถุประสงค์ได้ ต้องการให้ผู้ฟังทำอะไรต่อจากนี้ และ เราจะใช้กลไกในการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและคล้อยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
  • การเลือกสื่อที่ใช่ สื่อที่เหมาะสมแค่ไหน อยู่ที่เราทำการบ้านจากการมองบริบทดีเพียงใดนั่นเองครับ หากเรารู้ว่าต้องนำเสนอกับใครในเรื่องใด และต้องการผลลัพธ์ได้ ย่อมทำให้กลยุทธ์ในการเลือกสื่อ ซึ่งก็คือ แผนภาพในรูปแบบต่างๆ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลได้เหมาะสมกว่าเดิม
  • การตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก จุดนี้ คือ สิ่งที่ผู้นำเสนอหลายคนมักจะพลาด เนื่องจาก “ไม่ตัดใจ” รู้สึก “เสียดาย” เพราะคิดว่าข้อมูลทุกตัวที่หามาได้นั้น เกิดจากน้ำพักน้ำแรงที่ลงทุนหามา แต่การใส่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะผู้รับสารหลายคนจะเกิดอาการเบลอ จากภาวะข้อมูลที่รกและล้นจนเกินไป จนเกิดอาการเบลอ ไม่รู้ว่าข้อมูลตัวไหนสำคัญกว่า ท้ายที่สุด ก็อาจจะทำให้ข้อมูลที่สำคัญและต้องพิจารณานั้นไม่ถูกเน้นย้ำ และนำมาช่วยตัดสินใจไปอย่างน่าเสียดาย
  • การตรึงความสนใจผู้รับสาร คือ การจัดองค์ประกอบของแผนภาพ กราฟต่างๆ ให้ชวนมองไม่ว่าจะเป็นสีสัน ขนาด และ ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้รับสารจดจ่อ และทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ่น
  • การคิดอย่างนักออกแบบ จะพูดถึงกระบวนการในการออกแบบการนำเสนอข้อมูล ตั้งแต่ เป้าหมายที่เราต้องการ การโต้ตอบของผู้รับสารกับข้อมูล เพื่อให้พวกเขาเกิดการยอมรับ
  • การบอกเล่าเรื่องราว ถ้าข้อมูลเป็นส่วนช่วยในเรื่องเหตุผล และตรรกะแล้ว “เรื่องเล่า” ก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในเรื่องของอารมณ์ อย่างลืมว่า แม้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล แต่หลายครั้งก็ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์อยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องราวไม่ใช่การพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงจากอารมณ์คน แต่เป็นการใส่ความหมายอย่างลึกซึ้ง เพื่อถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้น ให้บอกเล่าในสิ่งที่ควรบอกอย่างเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม และเน้นย้ำได้ตรงจุดที่ผู้สื่อสารต้องการจะบอก เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความตระหนักว่า ข้อมูลนั้นเป็นตัวช่วยให้เขา “ตัดสินใจ” และ “ทำในบางสิ่งบางอย่าง” อย่างมีเหตุผล ครับ

ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นคร่าวๆ ที่หนังสือ Data Storytelling นี้นำเสนอครับ สำหรับรายละเอียดในแต่ละประเด็นนั้น ติดตามได้จาก Blog ของเราในตอนต่อๆ ไปนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Proudly powered by WordPress | Theme: Lean Blog by Crimson Themes.